ปลูกมะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ให้ออกในช่วงฤดูแล้ง

วันอังคารที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


ปีนี้ (ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2552) เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ราคาผลผลิตมะนาว ฤดูแล้งของเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวเชิงพาณิชย์ขายมะนาวจากสวนได้ราคาสูงที่สุด มะนาวพันธุ์แป้นรำไพขนาดจัมโบ้ขายจากสวนได้ถึงผลละ 4 บาท เมื่อถึงผู้บริโภคจะสูงถึงผลละ 7-8 บาท เกษตรกรผู้ปลูกมะนาวและสามารถผลิตให้ออกฤดูแล้งได้รวยไปตาม ๆ กันท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย มะนาวราคาแพงเช่นนี้จะทำให้เกษตรกรหลายรายขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น แต่ก่อน ตัดสินใจปลูกเกษตรกรจะต้องพิจารณาเรื่องสายพันธุ์และศึกษาเทคนิคในการบังคับ มะนาวให้ออก นอกฤดูให้ถ่องแท้เสียก่อน

ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องสายพันธุ์มะนาวที่ปลูกในประเทศขณะนี้จะ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ พันธุ์ทะวายและพันธุ์ธรรมดา พันธุ์ทะวายหมายถึงพันธุ์ที่มีการออกดอกง่ายออกเกือบตลอดทั้งปีและมีการทยอย ออกหลายรุ่นในฤดูเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถ

กระตุ้นให้ออกนอกฤดูได้ง่าย สำหรับสายพันธุ์ทะวายส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์แป้น อาทิ พันธุ์แป้นรำไพ, แป้นจริยา, แป้นพวง ฯลฯ สำหรับพันธุ์ธรรมดาหรือพันธุ์ทั่วไป เช่น ตาฮิติ (ตาฮิติจัดเป็นมะนาวสายพันธุ์ต่างประเทศที่ไม่มีเมล็ดและค่อนข้างต้านทานต่อ โรคแคงเคอร์ แต่คนไทยไม่ค่อยนิยมบริโภคเพราะน้ำไม่หอม), มะนาวน้ำหอมและมะนาวไร้เมล็ด เป็นต้น มะนาวในกลุ่มนี้ผลจะมีขนาดใหญ่และกระตุ้นให้ออกดอกยากกว่า มะนาวพันธุ์แป้นรำไพและมีจำนวนผลน้อยกว่า

ในกลุ่มของมะนาวพันธุ์แป้นรำไพพบว่ามีเกษตรกรได้ทำการคัดเลือกพันธุ์ที่ให้ ผลผลิต สูงและมีลักษณะพิเศษออกไปคือ ผลใหญ่, เปลือกบาง ให้ผลผลิตดกมากและติดผลเป็นพวง ที่สำคัญมีปริมาณน้ำมาก, หอมและมีรสชาติ เหมือนกับมะนาวแป้นรำไพทุกประการ และได้มีการตั้งชื่อพันธุ์ว่า พันธุ์แป้นดกพิเศษ ปัจจุบันพันธุ์แป้นดกพิเศษ เริ่มมีเกษตรกรได้นำพันธุ์ไปขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้นแต่ส่วนใหญ่เจ้าของจะ หวงพันธุ์ และถ้าจะให้ต้นมะนาวมีความสมบูรณ์และแข็งแรงควรจะใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการ ต่อยอดหรือติดตาบนต้นตอส้มต่างประเทศ เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดกมากและติดเป็นพวง อย่างไรก็ตามในการให้ปุ๋ยและน้ำอย่างสมบูรณ์มีความจำเป็นกับการผลิตมะนาว พันธุ์แป้นดกพิเศษ

ที่ผ่านมานอกจากจะคัดเลือกสายพันธุ์มะนาวที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกแล้ว ใน การผลิตมะนาวให้ออกฤดูแล้ง เกษตรกรส่วนใหญ่ มักจะมีความผิดพลาดในเรื่องของการลงทุน เมื่อถึงช่วงเวลาราคามะนาวถูกลงในช่วงฤดูฝน เกษตรกรมักจะไม่บำรุงรักษาเท่าที่ควร มะนาวยังจัดเป็นพืชที่มีความต้องการอาหารที่สมบูรณ์และมีโรคและแมลงรบกวนมาก ถ้าต้นมะนาวขาดความสมบูรณ์ การผลิตมะนาวให้ออกฤดูแล้งก็ล้มเหลวตามไปด้วย.

source:http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=194134&NewsType=1&Template=1

เขียนโดย picass0 ที่ ๐๗:๓๘ 0 ความคิดเห็น  

ตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียง "จำเนียร กาญจนพรหม"

วันจันทร์ที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ที่พระราชทานให้กับพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศให้ใช้ชีวิตอย่างพอมี พอกิน พอใช้ ไม่ฟุ้งเฟ้อ เพื่อให้ชาวไทยทั้งชาติสามารถฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ ปัจจุบัน แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยจะดีขึ้นบ้างตามลำดับก็ไม่ได้หมายความว่าแนวคิด เศรษฐกิจพอเพียงจะถูกมองข้าม หรือยุติลงแค่นั้น ทว่ากลับได้รับการยอมรับในการนำมาเป็นกรอบแนวคิดเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐาน รากของประเทศ ให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

และเพื่อให้เป็น ไปตามแนวพระราชดำริ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงได้ร่วมมือกันจัดทำ "โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และการทำการเกษตรแบบผสมผสาน การส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (Effective Microorgaism หรือ EM) แทนการใช้สารเคมี ทั้งในด้านการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์น้ำ การปศุสัตว์และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการปลอดสารพิษเป็นหลัก และตลอด 2 ปี ที่ผ่านมาได้มีเกษตรกรทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นคือ คุณจำเนียร กาญจนพรหม อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 107 /1 หมู่ 12 ตำบลนาท่ามเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง 92190 ที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต จนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคใต้ของโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่าง ยั่งยืนในที่สุด

คุณจำเนียร ได้เล่าให้ฟังถึงชีวิตของตนเองก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการชีววิถีฯ ว่า เดิมมีอาชีพทำสวนยางพารา ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ สุกร และไก่ ควบคู่ไปด้วย ส่วนสามีก็รับราชการ รายได้ก็พอมีพอใช้จ่ายภายในครอบครัว หลังจากที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็ชักชวนเพื่อนบ้านไปดูว่าเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ แล้วมันเป็นอย่างไร พอเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากและตัวเองมีพื้นที่อยู่ประมาณ 1 ไร่ ก็คิดว่าน่าจะเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก และปลูกผักรอบๆ บ่อปลา เหมือนที่เจ้าหน้าที่มาแนะนำ ดังนั้น เมื่อเห็นตัวอย่างแล้วก็ลองทำดู

ใน ช่วงเดือนเมษายน ปี 2548 ด้วยการขุดบ่อปลา กว้างxยาวxลึก เท่ากับ 2x4x1 เมตร และรอบๆ บ่อปลาก็ปลูกผักสวนครัวที่ดูแลได้ง่าย เช่น ผักกูด ไว้โดยรอบ พื้นที่บริเวณบ้านก็ปลูกผักสวนครัว เช่น พริก มะเขือ ตะไคร้ ฟัก และอื่นๆ อีกมากมาย เวลาจะกินจะใช้ภายในครัวเรือนก็ไม่ต้องไปซื้อที่ไหน

คุณ จำเนียร กล่าวว่า ตนเองได้นำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ กับการเกษตรใน 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การเพาะปลูก การปศุสัตว์ การประมง และสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้จะเน้นเรื่องความปลอดภัย ปลอดสารพิษ สารเคมีเป็นหลัก คือ จะใช้วิธีการทางชีวภาพทั้งสิ้น ตอนแรกคิดว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร แต่พอลองทำจริงๆ ก็ปรากฏว่าการใช้พวกจุลินทรีย์ต่างๆ สามารถใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่การเพาะปลูกเมื่อใช้พวก EM นอกจากจะปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อตัวผู้ใช้แล้ว ยังทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ในด้านการปศุสัตว์ ก็ช่วยบำบัดกลิ่นในคอกสุกร การทำความสะอาดคอกสุกร เป็นการป้องกันเชื้อโรคที่เกิดขึ้นกับสัตว์ไปในตัว ด้านการประมงก็นำ EM มาใช้ได้ในบ่อปลา คือลดปัญหาน้ำเน่าเสีย และด้านสิ่งแวดล้อม ยังช่วยดับกลิ่นในห้องน้ำ บำบัดน้ำเสียบริเวณบ้าน และยังช่วยแปรสภาพเศษอาหารในครัวเรือนให้กลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินสำหรับต้นพืช ได้

เริ่มต้นคุณจำเนียรเลี้ยงปลาจำนวน 2 บ่อ เท่านั้น แต่เมื่อเห็นว่าให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจจึงขยายบ่อปลา จนถึงขณะนี้คุณจำเนียรมีบ่อปลาทั้งหมด 8 บ่อแล้ว เป็นปลาดุก 5 บ่อ ปลาหมอ 1 บ่อ ปลานิล 1 บ่อ และกบอีก 1 บ่อ เจ้าตัวได้เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนในการเลี้ยงปลาว่า หลังจากเตรียมบ่อเรียบร้อยแล้ว ก็ปล่อยน้ำลงบ่อทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน แล้วให้ใส่จุลินทรีย์ลงไปด้วยเพื่อปรับสภาพน้ำให้มีสีเขียว คือให้มีอาหารสำหรับปลานั่นเอง จากนั้นก็ใส่พวกผักบุ้ง ผักกระเฉด ลงไปในบ่อ และสังเกตว่าผักเหล่านี้เริ่มเจริญเติบโตได้ดี ก็แสดงว่าสภาพน้ำเริ่มใช้ได้แล้ว ให้นำพันธุ์ปลาไปปล่อยได้ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนครึ่งปลาก็เริ่มโตแล้ว สำหรับต้นทุนของอาหารปลาทั้งหมด 3 เดือน ก็อยู่ที่ประมาณ 1,300 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะผลผลิตที่ได้เมื่อเหลือจากการบริโภคในครัวเรือนก็นำไปจำหน่าย ถึงตอนนี้ก็สร้างรายได้เสริมถึงจุดคุ้มทุนแล้ว

"สิ่งสำคัญจากการ เลี้ยงปลา ปลูกผัก ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้อยู่ที่รายได้จากการขายผลผลิต เราไม่ได้วัดความสำเร็จจากเรื่องนี้ แต่อยู่ที่ความปลอดภัยของครอบครัวที่มั่นใจได้ว่าอาหารทุกชนิดที่ลูกๆ หรือสามีรับประทานนั้นไม่มีสารพิษตกค้างแน่นอน เพราะเราปลูกผัก เลี้ยงปลามาเองกับมือ ทุกวันนี้เรารู้สึกไม่มั่นใจความปลอดภัยจากผักที่วางขายในท้องตลาด

ดัง นั้น ปลูกกินเองดีกว่า สบายใจกว่าเยอะ และยังเป็นการลดรายจ่ายภายในบ้านด้วย ทุกวันนี้ไปตลาดก็แทบจะไม่ต้องซื้ออะไรมาก เพราะทุกอย่างก็มีอยู่ในแปลงผักข้างบ้านของเราแล้ว สำหรับผัก และปลาที่ขายได้ถือเป็นผลพลอยได้จากความพยายามของเรา ตอนนี้ก็มีคนมาซื้อถึงบ้าน เขาได้ยินแล้วบอกต่อๆ กันมา อย่างกบขายได้ราคาดีกิโลกรัมละ 65 บาท เลยคิดว่าจะขยายบ่อกบเลี้ยงอีกประมาณ 1,000 ตัว ไม่ต้องมาก 5-6 เดือน ก็โตเต็มที่แล้ว" คุณจำเนียร กล่าว

เมื่อเดินสำรวจบริเวณแปลงผัก สวนครัวของคุณจำเนียรและครอบครัวก็จะเห็นว่าเจริญเติบโตได้ดี สภาพดินก็ไม่แห้ง เจ้าตัวบอกว่า ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมักที่ทำใช้กันเองภายในครอบครัว และที่สำคัญสามารถนำน้ำจากบ่อปลามารดผักได้ ถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ทำกันมานานแล้ว และยังใช้ได้ดีอยู่ไม่ต้องไปจ่ายเงินซื้อปุ๋ยอีก และจากที่ทำมาทั้งหมด การเพาะปลูกจะให้ผลตอบแทนในเรื่องของรายได้มากที่สุด เพราะไม่ต้องลงทุนอะไร เมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์ต่างๆ เจ้าหน้าที่ก็ให้มา หลังจากนั้นก็มาขยายพันธุ์ต่อเอง ถ้าเราตั้งใจจริงมีเวลาให้กับมันก็มีแต่ได้กับได้ ไม่มีอะไรต้องเสีย และยิ่งในช่วงหน้าแล้งผักจะขายได้ราคาดี เพราะของเราจะงามกว่าที่อื่นช่วงนั้นบวบขายได้หลายร้อยบาทเลยทีเดียว และเมื่อลองคำนวณถึงรายได้จากการขายของที่ปลูกเอง เลี้ยงเองเดือนหนึ่งประมาณ 400-500 บาท คุ้มค่ามาก ดีกว่าปล่อยพื้นที่ทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์

และไม่ใช่แค่แปลงผักเท่า นั้น เมื่อลองเดินไปสุดทางข้างหลังบ้านของคุณจำเนียรก็จะเห็นต้นยางพาราเรียงแถว เป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมด้วยโรงเรือนสำหรับเพาะเห็ด โรงเรือนไก่ และคอกสุกรอยู่ระหว่างแถวยางพารา ซึ่งจัดการพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าและเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก

คุณ จำเนียร บอกว่า เริ่มแรกก็เลี้ยงสัตว์ในสวนยางพาราก่อน รายได้ก็พอจุนเจือครอบครัวแล้ว แต่พอมาเลี้ยงปลา ปลูกผักแบบพอเพียงก็ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองมากขึ้น เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ยางพาราจะราคาตกหรือไม่เราก็อยู่ได้ อย่างน้อยก็มีข้าวปลาอาหารพร้อมแล้ว ไม่ต้องไปกังวลว่าวันนี้จะหาอะไรให้ลูกกิน

"จำเป็นต้องตื่นแต่เช้า มืด เพราะต้องลุกขึ้นมากรีดยาง หลังจากนั้นก็เริ่มทำความสะอาดคอกหมู ให้อาหารไก่ ให้อาหารปลา และดูแลความเรียบร้อยของแปลงผัก ใช้เวลาครึ่งวัน แล้วช่วงบ่ายๆ ก็หาอะไรทำเรื่อยๆ จะเห็นว่ามีงานอะไรให้ทำมากมายในแปลงผักถ้าเราคิดจะทำ หลายคนบอกว่าเหนื่อยทำไมต้องทำอะไรให้มันวุ่นวายขนาดนี้ เพื่อนผู้หญิงข้างบ้านเขาก็ไม่ทำกัน แค่กรีดยางก็หนักหนาแล้ว พอเริ่มทำแรกๆ ก็เหนื่อยเหมือนกัน แต่พอเข้าที่เข้าทางแล้วก็เริ่มรู้สึกสนุกกับงาน ยิ่งผักขึ้นงามเท่าไหร่ เราก็มีความสุขตามไปด้วย การอยู่กับแปลงผักเขียวๆ ทุกวัน มันก็ทำให้เราใจเย็นขึ้นมาก" คุณจำเนียร กล่าว

อย่างไรก็ตาม คุณจำเนียร ได้ให้ข้อแนะนำสำหรับแม่บ้านทุกคนที่คิดจะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในครอบ ครัวด้วยการทำการเกษตรแบบยั่งยืนว่า ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุน หรือใช้พื้นที่มากมาย แต่ให้ศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้เข้าใจก่อน อาจจะหาความรู้จากหนังสือ นิตยสารต่างๆ หรือสอบถามจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ สิ่งสำคัญคือ การยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยอมรับเอาเทคโนโลยีการเกษตรหรือความรู้อะไรใหม่ๆ มาใช้บ้าง และรู้จักนำภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้กันมานานแล้วนำมาใช้ต่อ อย่าไปคิดว่ามันเป็นงานหนักสำหรับผู้หญิง มันจะทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจที่มีส่วนช่วยให้คนในครอบครัวได้อยู่ดีกินดี ซึ่งคิดว่าแม่บ้านหลายคนทำได้ถ้าคิดที่จะทำจริงๆ ไม่ต้องรอให้พ่อบ้านเป็นคนเริ่มก่อน ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาส

และผล จากความพยามยาม ความตั้งใจของคุณจำเนียร ทำให้เธอได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคของโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่าง ยั่งยืน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม้ว่ารางวัลจะไม่ได้เป็นเป้าหมายในชีวิตของเธอ แต่มันก็ช่วยสร้างกำลังใจให้ผู้หญิงคนนี้ได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ครอบ ครัวและสังคมต่อไป และตอนนี้ผลงานของคุณจำเนียรได้กลายเป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีของโครงการชี ววิถีฯ และเป็นแหล่งความรู้ทางด้านการเกษตรแบบยั่งยืนให้กับผู้สนใจจากทั่วประเทศ สำหรับท่านใดที่สนใจเศรษฐกิจแบบพอกินพอใช้ตามแบบฉบับของคุณจำเนียรก็ติดต่อ ได้ตามที่อยู่ข้างต้น หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ (07) 275-4050 หรือติดต่อที่ คุณวิรัตน์ กาญจนพรหม ได้ที่ โทร. (09) 871-1160 ได้ทุกวัน

เขียนโดย picass0 ที่ ๐๙:๑๒ 0 ความคิดเห็น